250 likes | 391 Views
หน่วยที่ 6 กฎหมายและนโยบาย. เนื้อหา. สาระสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความสำคัญและความเป็นมาของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเภทของการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
E N D
หน่วยที่ 6 กฎหมายและนโยบาย
เนื้อหา • สาระสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ • ความสำคัญและความเป็นมาของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ • ประเภทของการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ • พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ • การคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต
นโยบายรัฐบาลกับมาตรการรักษาความปลอดภัย • พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้คนทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน จึงเป็นการยากที่จะตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใครบ้าง ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้เลย หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ได้แก่ • 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเตรียมบุคลากรที่สามารถจับผู้กระทำความผิด ตรวจตราดูแลความสงบสุขในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ภาระหน้าที่นี้เป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยให้ขยายตัวได้ • 2.NECTEC จัดตั้ง Computer Emergency Response Team (CERT) เพื่อเป็นหน่วยงานที่คอยประสานงานในเรื่องการละเมิดความปลอดภัยบนเครือข่าย
ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ • 1. การริเริ่มระหว่างประเทศการพัฒนากรอบทางกฎหมายในระดับระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law – UNCITRAL) ได้ให้ความเห็นชอบต่อ ‘Model Law on Electronic Commerce’ ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 85 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1996 ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเสนอกรอบทางกฎหมายที่ยอมรับผลทางกฎหมายของการติดต่อสื่อสารด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Message) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต, อีดีไอ (EDI), โทรศัพท์, โทรสาร ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกแต่ละประเทศนำไปปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศตามความเหมาะสม และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”กฎหมายต้นแบบ (Model Law) จึงเป็นข้อเสนอแนะทางกฎหมายที่มีลักษณะกว้าง เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดรายละเอียดกฎเกณฑ์ของตนได้
ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ • 2. การริเริ่มในประเทศคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องกฎหมายว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (UNCITRAL Model Law on Electronic Commerce) และอนุมัติโครงการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศของไทยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 และดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2541
ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ • คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการจัดทำ “โครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ” ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และเห็นชอบให้คณะกรรมการเทคโนโลยีฯ เป็นศูนย์กลางดำเนินการและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่กำลังดำเนินการจัดทำกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งประกอบด้วยกฎหมาย 6 ฉบับ ได้แก่ • กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เดิมเรียกว่า กฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์) • กฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ • กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน • กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล • กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ • กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ความเป็นมาของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ • ต่อมามีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2542 เพื่อพิจารณารวมร่าง พ.ร.บ. การพาณิชย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2541 ที่กระทรวงยุติธรรมจัดทำขึ้น และร่าง พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2542 เพราะมีเนื้อหาสำคัญหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน จึงได้ข้อสรุปในการรวมร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ และร่าง พ.ร.บ. ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2543 ในชั้นการพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานฯ ได้เสนอให้รวมหลักกฎหมายของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ๆ ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จึงประกาศเป็นกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2544 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2545
หลักการสำคัญของ UNCITRAL Model Law on Electronic Commerce (1996) • หลักการสำคัญของกฎหมายต้นแบบนี้คือ หลักเรื่อง ‘Functional-Equivalent Approach’ หมายถึง การรับรองผลทางกฎหมายของข้อความเอกสาร, การลงลายมือชื่อที่จัดทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับเอกสาร หนังสือหรือการลงลายมือชื่อที่ทำบนกระดาษ โดยพบใน มาตรา 6 (Writing), มาตรา 7 (Signature) และมาตรา 8 (Original) สาเหตุที่ทำให้หลักการข้างต้นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับแบบพิธีหรือเงื่อนไขของกฎหมายต่างๆ คือ หลักฐานการฟ้องร้องบังคับคดี การลงลายมือชื่อ และการนำเสนอและเก็บรักษาข้อความอย่างต้นฉบับ “พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544” ได้นำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในหลายมาตรา คือ มาตรา 8, 9, 10 ตามลำดับ
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • เหตุผลในการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544” คือเพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการทำธุรกรรมหรือสัญญา ให้มีผลเช่นเดียวกับการทำสัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายปัจจุบัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) กำหนดไว้ ได้แก่ การทำเป็นหนังสือ หลักฐานเป็นหนังสือ การลงลายมือชื่อ กล่าวคือถ้ามีการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของกฎหมายแล้ว กฎหมายนี้ถือว่าการทำสัญญานั้นได้ทำตามหลักเกณฑ์ข้างต้นของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เป็นผลทำให้สัญญานั้นมีผลสมบูรณ์หรือใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด มีเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้ • หมวด 1 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 7 - 25) • การรับรองรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการรับ การส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ (มาตรา 8) • การยอมรับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์) ให้ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามกฎหมาย หากใช้วิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (มาตรา 9) • การนำเสนอและเก็บรักษาข้อความที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างต้นฉบับเอกสาร (มาตรา 10, 12) • การรับ การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 15-24) • ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำตามวิธีการที่น่าเชื่อถือ (มาตรา 25)
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • หมวด 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 26 - 31) • หมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 32 - มาตรา 34) • หมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (มาตรา 35) • หมวด 5 คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 36 - 43) • หมวด 6 บทกำหนดโทษ (มาตรา 44 - 46)
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • คำว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ตามพระราชบัญญัติ นี้หมายถึง “ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ” (มาตรา 4)
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • จากความหมายข้างต้นสามารถสรุปลักษณะของ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้ดังนี้ 1. เป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ มีความหมายต่างจากลายมือชื่อตามกฎหมายเดิมคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 92. วัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์คือ เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 • แม้ว่าจะมีการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นก็ตาม แต่ลายมือชื่อฯ ที่จะถือเป็นลายมือชื่อที่มีผลทางกฎหมาย จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ (มาตรา 9) คือ“ (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี ” • ลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือได้มีมาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 25, มาตรา 26 และมาตรา 29 คู่กรณีที่เกี่ยวข้องยังสามารถใช้วิธีการใดๆ ที่เข้าลักษณะและเงื่อนไขของกฎหมายได้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือได้ แต่ก็ไม่ควรจำกัดการใช้เทคโนโลยีใดโดยเฉพาะตามหลักการเรื่อง ‘Technology Neutrality’ คือการไม่ถือเอาเทคโนโลยีหนึ่งเทคโนโลยีใด เป็นเกณฑ์พิจารณาความน่าเชื่อถือของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งบทบัญญัติ มาตรา 26ก็ไม่ได้ระบุจำกัดวิธีการหนึ่งวิธีการใดไว้
ประเภทของการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทของการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ • การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัตินี้ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ1. การประกอบธุรกิจประเภทที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่2. การประกอบธุรกิจประเภทที่ต้องขึ้นทะเบียน 3. การประกอบธุรกิจประเภทที่ต้องได้รับใบอนุญาต • อนึ่ง แม้ว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แต่อย่างใด จึงยังไม่มีการกำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับ “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ใดว่าเข้ากิจการประเภทใด (มาตรา 32) เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะเข้าประเภทใด กฎหมายฉบันนี้ให้พิจารณาจากความเหมาะสมในการป้องกันความเสียหายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจนั้น (มาตรา 32 วรรค 2) และยังบัญญัติเงื่อนไขการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวว่า ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้นำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประกอบการพิจารณา (มาตรา 32 วรรคท้าย)
พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certification Authority – CA) สำหรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ • ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองสำหรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาข้างต้น และมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 28 ดังนี้ • หน้าที่ปฏิบัติตามแนวนโยบายและแนวปฏิบัติของผู้ให้บริการที่แสดงไว้ (เนื่องจากผู้ให้บริการออกใบรับรองฯ จะต้องมีการออกแนวนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น ‘Certification Practices Statement (CPS) หรือเอกสารใดๆ ทำนองเดียวกัน) • หน้าที่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเกี่ยวกับความถูกต้องและความสมบูรณ์ของใบรับรอง อายุใบรับรอง เป็นต้น • หน้าที่กำหนดวิธีการให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบเนื้อหาหรือสาระสำคัญของใบรับรอง เกี่ยวกับการระบุผู้ให้บริการออกใบรับรอง, เจ้าของลายมือชื่อที่ระบุไว้ในใบรับรอง และข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ได้ในขณะหรือก่อนที่มีการออกใบรับรอง
พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ • หน้าที่กำหนดวิธีการให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจดูใบรับรองได้ เพื่อตรวจสอบวิธีการที่ใช้ในการระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ, วัตถุประสงค์และคุณค่าที่มีการนำข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับรอง, ขอบเขตความรับผิดของผู้ให้บริการออกใบรับรอง, วิธีการให้เจ้าของลายมือชื่อส่งคำบอกกล่าวเมื่อมีเหตุตามบางประการ ตามมาตรา 27 (2), บริการเกี่ยวกับการเพิกถอนใบรับรอง เป็นต้น • หน้าที่จัดให้มีบริการที่เจ้าของลายมือชื่อสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการออกใบรับรองในกรณี ตามมาตรา 27 (2) และกรณีการขอเพิกถอนใบรับรองที่ทันการ • หน้าที่ใช้ระบบ วิธีการและบุคลากรที่เชื่อถือได้ในการให้บริการ ฯลฯ
พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การยื่นคำขอ การขออนุญาต การจดทะเบียน หรือการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายของประชาชน • แต่เดิมนั้นการยื่นคำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน หรือการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมาย ผู้ร้องขอจะต้องเดินทางมาติดต่อกับหน่วยงานของรัฐด้วยตนเอง หรือบางกรณีอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยมีเอกสารของผู้มอบอำนาจ พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้การรับรองให้หน่วยงานของรัฐสามารถรับคำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน หรือการดำเนินการใดๆ ของประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ยื่นคำร้องหรือคำขอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือยื่นคำขอในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผลที่สำคัญคือการกระทำข้างต้นนี้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการกระทำในรูปแบบเดิม กฎหมายยังระบุให้การออกคำสั่งทางปกครอง การประกาศ หรือการดำเนินการใดๆ โดยหน่วยงานของรัฐ สามารถกระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา จึงจะถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย
การคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต • การใช้งานของอินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเท่านั้น แต่เริ่มมีการทำธุรกรรม ระหว่างกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เกิดการค้าขายรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “พาณิชย์ทางอินเทอร์เน็ต ” (Internet Commerce) มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี พ.ศ. 2543 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกสูงราว 304 ล้านคน (Nua Internet Survey, มีนาคม 2543) ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประมาณการณ์ว่ามีอยู่ถึง 3.5 ล้านคน จากการสำรวจของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (มกราคม 2544) จะเห็นได้ว่าช่องทางดังกล่าวเปิดกว้างแก่คนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภค การซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะให้ความสะดวกและมีประโยชน์หลายประการ แต่ก็อาจก่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภคทำนองเดียวกับการซื้อสินค้าหรือใช้บริการในรูปแบบเดิม เพราะลักษณะของอินเทอร์เน็ตคือ • ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา และสถานที่ • ให้ความสะดวก รวดเร็วในการโฆษณา (ผู้ประกอบธุรกิจ) การซื้อขาย (ผู้บริโภค) • เป็นการติดต่อแบบ 2 ทาง (Interactivity) ในรูปแบบมัลติมีเดีย (Multimedia) • ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจ • ไม่ทราบตัวบุคคลที่ติดต่อซื้อขาย • ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและไว้วางใจ • อาจมีการหลอกลวงเช่นเดียวกันกับธุรกิจในรูปแบบเดิม
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค • อาจกล่าวได้ว่ามีการนำหลักการคุ้มครองผู้บริโภคมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) เป็นครั้งแรกใน มาตรา 57 “ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความ เห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ” กฎหมายสำคัญที่วางหลักการพื้นฐานเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องการซื้อขายสินค้าและ บริการคือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522“ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541 ซึ่งวางหลักการสำคัญเรื่องคุ้ม ครองสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง, สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการ, สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ, สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย หลักการทั้ง 5 ประการนี้มีบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ของกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ในเรื่องนี้มีผู้ให้ความเห็นว่า กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคทุกกรณี โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านสื่อประเภทใด แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวเนื่องเรื่องการใช้บังคับกฎหมาย
ปัญหาการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและแนวทางแก้ไข • โดยหลักแล้วกฎหมายย่อมให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าและบริการด้วยวิธีการใดดังที่กล่าวมาในข้างต้น ประเด็นปัญหาจึงอาจมีหลายกรณี เช่น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีมาตรการที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่ อย่างไร ควรมีการศึกษาถึงมาตรการที่เหมาะสมเฉพาะเรื่องไป และอาจอาศัยมาตรการอื่นๆ เช่น การให้ความรู้หรือคำแนะนำแก่ผู้บริโภค, การจัดทำแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจ (Best Practice), มาตรการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ, การตรวจตราหรือเฝ้าระวัง (surveillance) ตลอดจนการออกกฎเกณฑ์หรือกฎหมายเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น
ปัญหาที่ผู้บริโภคมักประสบจากการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต • ปัญหาที่ผู้บริโภคมักประสบจากการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต อาจมีลักษณะเช่นเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นในการซื้อขายตามปกติ ได้แก่ 1. ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือให้บริการตามที่ตกลงกัน 2. สินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับรายการที่สั่งซื้อ 3. สินค้าที่สั่งซื้อชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้
ปัญหาที่ผู้บริโภคมักประสบจากการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต • การแก้ไขหากผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ได้รับสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับรายการที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้แล้วแต่กรณี แต่เดิมนั้นผู้บริโภคที่ใช้บัตรเครดิตอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ต่อมาจึงมีการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542” (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจของ มาตรา 35 ทวิ แห่ง“พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522” เป็นผลทำให้ผู้ถือบัตรเครดิต ซึ่งรวมถึงบัตรเดบิตด้วยได้รับความคุ้มครองเมื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ ผู้ซื้อมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้น ภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันสั่งซื้อ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันถึงกำหนดส่งมอบสินค้าหรือบริการ เมื่อมีกำหนดเวลาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้บริโภคต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รับสินค้าจริง หรือได้รับไม่ตรงกำหนดเวลา หรือได้รับไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง หรือชำรุดบกพร่องแล้วแต่กรณี
ข้อพึงปฏิบัติของผู้บริโภคเพื่อป้องกันและวิธีแก้ไขปัญหา สำหรับผู้ถือบัตรเครดิต • ผู้ซื้อควรเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือคือ มีรายละเอียดชื่อ ที่อยู่ของผู้ขายสินค้า หรือวิธีที่สามารถติดต่อได้ • หากไม่มั่นใจผู้ขาย ก็ควรหลีกเลี่ยงไปใช้บริการของร้านค้าที่เป็นที่รู้จัก • การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ต ผู้ถือบัตรไม่ควรให้ข้อมูลบัตรเครดิต เช่น หมายเลขบัตร วัน เดือน ปีที่บัตรหมดอายุ หรือข้อมูลส่วนบุคคลแก่ผู้ขายที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยขณะชำระเงิน (สังเกตจาก https:// หรือเครื่องหมายแม่กุญแจที่ล็อกอยู่) • สอบถามหรือตรวจสอบสัญญาหรือเงื่อนไขบัตรชนิดต่างๆ กับธนาคารหรือบริษัทที่ออกบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรที่สามารถชำระเงินทางอินเทอร์เน็ตได้ว่า ผู้ถือบัตรจะได้รับความคุ้มครองในกรณีใดบ้าง และมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร • เมื่อพบรายการผิดปกติใดๆ หรือเชื่อว่าตนอาจถูกหลอกหรือมีผู้ใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทหรือธนาคารที่ออกบัตรทราบ และทำหนังสือปฏิเสธการใช้บัตรเพื่อระงับรายการนั้นไว้ชั่วคราว
ข้อพึงปฏิบัติของผู้บริโภคเพื่อป้องกันและวิธีแก้ไขปัญหา สำหรับผู้ถือบัตรเครดิต • ถ้าผลการตรวจสอบพบว่า ผู้ถือบัตรไม่ได้ใช้บัตรจริง ธนาคารผู้ออกบัตรจะไม่เรียกเก็บเงิน หรือหากได้ชำระเงินไปแล้ว ก็จะคืนเงินให้แก่ผู้ถือบัตร จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายผู้ออกบัตรแล้ว ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่เป็นผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกบัตรและผู้ถือบัตร • จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองจากการใช้บัตรเครดิตของบุคคลอื่นทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนไม่ได้ให้ความยินยอม เนื่องจากธนาคารผู้ออกบัตรจะต้องปฏิบัติตาม “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542” ที่ประกาศให้การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ผู้ออกบัตรจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีเนื้อความตามประกาศ