410 likes | 691 Views
โดย นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส. คำสั่งทางปกครอง กับการปฏิบัติงานสอบบัญชี. 1. ผู้สอบบัญชีคือใคร ?. บุคคลซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์อาศัยอำนาจตามมาตรา 16 (3) แต่งตั้งขึ้น. 2. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจอะไร ?.
E N D
โดย นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส คำสั่งทางปกครอง กับการปฏิบัติงานสอบบัญชี
1. ผู้สอบบัญชีคือใคร ? บุคคลซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์อาศัยอำนาจตามมาตรา 16 (3) แต่งตั้งขึ้น
2. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจอะไร? 2.1 ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ หรือเชิญสมาชิกสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสหกรณ์ได้ (มาตรา 17) 2.2 เข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ และสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงได้ตามสมควร (มาตรา 18 วรรคหนึ่ง) ให้ผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง แสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง (มาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม) (เงื่อนไขในการใช้อำนาจ)
3. ผลของการฝ่าฝืน มาตรการทางอาญา การฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติการของผู้สอบบัญชีตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ต้องระวางโทษทางอาญา ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (ตามมาตรา 130 และมาตรา 131 ตามลำดับ) มาตรการทางปกครอง ยังไม่มีการกำหนดมาตรการบังคับการปกครอง แต่นายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อใช้บังคับอย่างกฎ และมีโทษปรับเป็นรายวันจนกว่าจะมีการดำเนินการตามอำนาจของผู้สอบบัญชี หรือระงับการกระทำอันเป็นการขัดขวางหรือฝ่าฝืนการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16(8)
4. หน้าที่ของผู้สอบบัญชี คืออะไร? • หน้าที่หลักมีเพียงประการเดียว คือ ตามมาตรา 69“เพื่อตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์”
5. กรอบหรือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ คืออะไร ? • ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปและตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด (ตามมาตรา 69 วรรคสอง)
1. การปกครอง คืออะไร ? • การใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายปกครอง
2. ฝ่ายปกครอง คืออะไร ? • ฝ่ายปกครองเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารหรือฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองจึงหมายถึงองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแล ของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง
3. การกระทำของฝ่ายปกครอง คืออะไร ? • ผลผลิตของการกระทำของฝ่ายปกครอง ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ • 1) การกระทำทั่วไป เช่น พนักงานขับรถยนต์ขับรถ หรือนายแพทย์ผ่าตัดหรือรักษาคนไข้ เป็นต้น • 2) การกระทำทางปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่เรื่องของคำสั่งทางปกครอง และการพิจารณาทางปกครองจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางปกครอง
4. การกระทำทางปกครอง คืออะไร ? • ผลผลิตของการใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์กร ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง
5. การกระทำทางปกครองแบ่งออกเป็นกี่ประเภท 1) กฎ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายใช้บังคับกับกรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ 2) คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน หรือตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายและใกล้ตัวผู้สอบบัญชีที่สุดก็คือ คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 22 (1)-(4) 3) คำสั่งทั่วไป หมายความถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่แต่ไม่มีผลกระทบ ต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล หรือมิได้เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล และหมายถึง การพิจารณาทางปกครองด้วย
6. นอกจากคำสั่งทางปกครองที่เรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้สอบบัญชี ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสหกรณ์ หรือระบบสหกรณ์ คือ การพิจารณาทางปกครอง ความหมายของ “การพิจารณาทางปกครอง” คือ การเตรียมการและการดำเนินการ ของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง
7. ความสำคัญของผู้สอบบัญชีในส่วนของอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครอง (1)คำสั่งทางปกครองที่อยู่อำนาจหน้าที่ของผู้สอบบัญชี (1.1) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ หรือเชิญสมาชิกสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสหกรณ์ได้ (มาตรา 17) (1.2) เข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้ และสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก หรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงได้ตามสมควร (มาตรา 18 วรรคหนึ่ง)
จากคำสั่งทางปกครองที่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้สอบบัญชีดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก กรณีจึงอาจไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก แต่หากมาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของผู้สอบบัญชีในส่วนของการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งมีความหมายว่า การเตรียมการหรือการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง คือ การรายงานผลการตรวจสอบบัญชีและเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ หรือของนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้มีคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 22 (1)-(4) จะเห็นได้ความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นข้อเสนอที่มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสหกรณ์หรือระบบสหกรณ์อย่างมาก
8. สิ่งที่อยากจะนำเสนอหลังจากได้พูดถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้สอบบัญชีอันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางปกครองแล้ว อยากจะพูดถึงหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองหรือหลักการกระทำ ทางปกครอง ดังนี้ 8.1 ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจออกกฎ ออกคำสั่ง หรือการกระทำการใด ๆ ก็ตามที่มีผลเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลได้ต่อเมื่อมีกฎหมาย ให้อำนาจและเพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นทั้งที่มาของอำนาจ และเป็นข้อจำกัดอำนาจ
8.2 กรณีกฎหมายเป็นที่มาของอำนาจนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย และมีแบบอย่างให้เห็นมากมาย เช่น การออกคำสั่งโดยมีข้อความว่า อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา ..... แห่งพระราชบัญญัติ.... เป็นต้น แต่ในกรณีที่กฎหมายเป็นข้อจำกัดอำนาจ นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจค่อนข้างยากอยู่บ้าง เพราะบางครั้งข้อจำกัดอำนาจในการกระทำของฝ่ายปกครอง อยู่ในกฎหมายที่ให้อำนาจในการกระทำนั้นเอง เช่น กรณีรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า การจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น ซึ่งหมายความว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ โดยการตราเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ เช่นนี้ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นที่มาของอำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็จำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนไว้ด้วยว่า “เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น” หรือกรณี ตามมาตรา 16 (8) ให้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ออกระเบียบหรือคำสั่งเพื่อใช้บังคับ แก่สหกรณ์ทั้งปวง โดยมีข้อจำกัดอำนาจไว้เฉพาะเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
แต่ในบางครั้งข้อจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองในการใช้อำนาจตามกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนั้นเอง เช่นนี้แล้วฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะต้องตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งปวงว่ามีข้อจำกัดอำนาจไว้หรือไม่ และอย่างไร เพื่อมิให้การกระทำทางปกครองนั้นเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้น เช่น กรณีการออกระเบียบ นายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ ต้องตรวจสอบว่าการออกระเบียบดังกล่าวขัดต่อหลักการส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ ให้เป็นอิสระตามมาตรา 84 (9) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ และการยกเลิกระเบียบดังกล่าวขัดต่อหลักการส่งเสริมองค์กรภาคเอกชนทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งหรือไม่ ตามมาตรา 86 (13) ของรัฐธรรมนูญเดียวกัน หรือกรณีจะออกคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบอำนาจเกี่ยวกับการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าจะไปขัดแย้งกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์หรือไม่เป็นต้น
9. ข้อจำกัดในการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองอันเกิดจากหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ได้พยายามพูดถึงข้อจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองในหลายมิติ และมากมาย เพื่อจะชี้นำแก่ผู้สอบบัญชีทั้งหลายได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ทั้งหลาย กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ตราขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและหลักริติรัฐ (Rule of Law) จะมีการกำหนดหลักการสำคัญเพื่อเป็นข้อจำกัดอำนาจของฝ่ายบริหารไว้ 2 ประการ ในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย คือ
(1)หลักความเสมอภาค หลักดังกล่าว เป็นข้อจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครอง ที่จะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายต่อประชาชนอย่างเสมอภาค หรือเท่าเทียมกัน เช่น ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างความไม่เทียมกันระหว่างชายกับหญิง เป็นต้น หลักการดังกล่าวจะปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนี้ - มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ - มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
(2) หลักความได้สัดส่วน หรือหลักพอสมควรแก่เหตุ หลักดังกล่าว เป็นข้อจำกัดอำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองที่จะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายโดยความได้สัดส่วน ไม่มากเกินไปหรือไม่น้อยเกินไปได้สัดส่วนระหว่างอำนาจ หรือมาตรการกับเหตุการณ์ หรือโดยพอสมควรแก่เหตุ เช่น ต้องมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะใช้อำนาจได้ หรือใช้อำนาจเพียงเท่าที่จำเป็น ดังจะปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนี้ - มาตรา 29 บัญญัติให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชนได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเท่าที่จำเป็น - มาตรา 43 วรรคสอง บัญญัติให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพได้ เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษา ความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศการคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดการใช้อำนาจตามกฎหมายของฝ่ายปกครองโดยจะใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ต่อเมื่อมีเหตุ หรือเฉพาะเมื่อมีเหตุดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎหมายนั้นเอง
นอกจากนั้น มีการบัญญัติข้อจำกัดในทำนองเดียวกันในการจำกัดเสรีภาพด้านอื่น ๆ ของบุคคลหรือประชาชน ในส่วนของหลักความเสมอภาค เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายค่อนข้างชัดเจน และเกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีน้อยมากแต่ในส่วนของหลักความได้สัดส่วนหรือหลักพอสมควรแก่เหตุนี้มีความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีอย่างมาก เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้สอบบัญชีเป็นการกระทำทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 17 และมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ หรือเป็นการพิจารณาทางปกครองโดยการเสนอรายงานผลการสอบบัญชีเพื่อให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ใช้อำนาจตามกฎหมายสหกรณ์ มาตรา 22 (1) – (4) เพื่อบังคับแก่สหกรณ์ จึงจำเป็นต้อง ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของผู้สอบบัญชี โดยศาล หรือโดยหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ อันจะนำไปสู่ความรับผิดชอบในทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง ดังนั้น ผู้สอบบัญชีต้องสังวร และระลึกอยู่เสมอว่าการกระทำทางปกครองของท่านจะต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนหรือพอสมควร แก่เหตุด้วย
10. หลักความได้สัดส่วน ประกอบด้วยหลักการย่อย ๆ 3 หลักด้วยกัน คือ 1) หลักสัมฤทธิ์ผล 2) หลักความจำเป็น 3) หลักความมีเหตุผล โดย 3 หลักนี้ต้องพิจารณาเรียงกันไปและจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 หลักการกระทำทางปกครองจึงจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกระบวนการกลั่นกรองการใช้อำนาจทางปกครองเช่นเดียวกับเครื่องกรองน้ำในสมัยโบราณที่มีความหมายและละเอียดเป็นลำดับขั้น ดังจะกล่าวโดยละเอียด ดังนี้
1) หลักความสัมฤทธิ์ผล เป็นหลักที่เรียกว่า Common sense หรือสามัญสำนึกเป็นหลักที่บังคับว่าในบรรดามาตรการทั้งหลายที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาใช้บังคับแก่ราษฎรในกรณีใดกรณีหนึ่ง ฝ่ายปกครองต้องใช้วิจารณญาณเลือกออกมาตรการที่กฎหมายเปิดช่องให้ฝ่ายปกครองใช้อยู่ด้วยกัน 3 มาตรการ จึงเป็นดุลยพินิจของฝ่ายปกครองที่จะเลือกมาตรการใดก็ได้ใน 3 มาตรการนี้ แต่เมื่อมาดูกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ปรากฏว่ามาตรการที่หนึ่ง เมื่อเลือกใช้แล้วไม่สามารถที่จะรักษาประโยชน์สาธารณะที่อยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับที่ให้อำนาจนั้นได้ ผลก็คือมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร แต่ไม่ได้ทำให้ประโยชน์สาธารณะได้รับการรักษาเลยแม้แต่น้อย แสดงว่ามาตรการที่หนึ่งไม่สัมฤทธิ์ผล ถ้าเราเทียบว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเป็นต้นทุน ประโยชน์ที่เกิดจากมาตรการจัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเป็นผลประกอบการการลงทุนในครั้งนี้ขาดทุนอย่างสิ้นเชิง เท่ากับมาตรการไม่สัมฤทธิ์ผล เป็นมาตรการทีจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรโดยไม่เกิดประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแน่นอน
ตัวอย่างคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 1110/2512 เป็นเรื่องของการใช้มาตรการที่บัญญัติให้อำนาจไว้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว และแทนที่โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เนื่องจากมีสินค้าบางชนิดที่จำเป็นแก่การอุปโภคของประชาชน จึงต้องพยุงราคาไม่ให้สูงเกิน และมิให้มีการกักตุนสินค้า จึงจำเป็นต้องตราขึ้นเพื่อควบคุมราคาสินค้าด้วยการป้องกันมิให้มีการกักตุนสินค้าที่จำเป็น เพื่อให้มีราคาสูงขึ้น อันเป็นการค้ากำไรเกินควร อันเป็นเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ และเป็นประโยชน์สาธารณะ จึงให้อำนาจฝ่ายปกครอง เมื่อเห็นว่าสินค้าใดก็ตามที่จำเป็นแก่การอุปโภคบริโภคแล้วราคาสูงขึ้นอย่างไม่ได้สัดส่วนกัน ระหว่าง Demand กับ Supply มีการกักตุนไว้ไม่ปล่อยสินค้า เข้าสู่ตลาดหรือปล่อยแต่เป็นจำนวนน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ฝ่ายปกครองต้องออกประกาศฉบับหนึ่งเป็นเบื้องต้น คือ ประกาศให้สินค้าตัวนั้น เป็นสินค้าควบคุมในราชกิจจานุเบกษา พอประกาศดังกล่าวแล้วตัวพระราชบัญญัติฯ ก็ให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาตรการต่าง ๆ หลายประการเกี่ยวกับสินค้าควบคุมนั้น ซึ่งทุกมาตรการที่ออกมานั้นเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงในทางคดีปรากฏว่า เกิดภาวะสุกรแหละขาดแคลนในจังหวัดนราธิวาส ทำให้สุกรมีราคาสูง ทั้งกรที่มีชีวิตก็มีราคาสูง พอชำแหละแล้วราคายิ่งสูงขึ้นไปอีก
ฝ่ายปกครองจึงออกประกาศให้สุกรมีชีวิตเป็นสินค้าควบคุม จากนั้นก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งตามมากำหนดมาตรการห้ามนำสุกรมีชีวิตจากนอกเขตเข้าไปจำหน่ายในเขตที่สุกรขาดแคลน คือ เขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งการออกประกาศห้ามนำสุกรมีชีวิตจากท้องที่อื่นเข้าไปจำหน่ายในท้องที่อำเภอตากใบที่สุกรขาดแคลน โดยเจตนารมณ์ของการออกประกาศ คือ พยุงราคาสุกรมีชีวิตไม่ให้มันสูง พอราคาไม่สูงพอซื้อมาชำแหละขายราคาก็ต่ำ ประชาชนก็สามารถซื้อมาบริโภคได้ แต่พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า ในขณะที่สุกรในเขตอำเภอตากใบขาดแคลนจึงมีราคาสูง มาตรการที่จะทำให้ราคาสุกรในเขตอำเภอตากใบต่ำลงคือมาตรการห้ามนำสุกรในเขตอำเภอตากใบออกนอกเขตพื้นที่ เลี้ยงที่อำเภอตากใบต้องขายภายในเขตอำเภอเขตตากใบเท่านั้น ห้ามนำไปขายที่อื่น แต่มาตรการที่ใช้กลับตรงกันข้ามคือ กลับไปออกกฎ ออกประกาศห้ามนำสุกรมีชีวิตจากท้องที่อื่นเข้ามาจำหน่ายในเขตอำเภอตากใบ ซึ่งยิ่งจะทำให้ปริมาณสุกรในเขตอำเภอตากใบน้อยลงเพราะต้องฆ่ากินทุกวัน และเมื่อยิ่งน้อยลงเท่าไรราคาสุกรก็ต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา จึงเห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตในเขตอำเภอตากใบมีสถานการณ์ร้ายแรงขึ้น ราคาสุกรมีชีวิตยิ่งจะสูงขึ้นไปอีกเพราะปริมาณน้อย อันเป็นมาตรการที่ไม่สัมฤทธิ์ผล เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้คนแต่ไม่สามารถพยุงราคาสุกร
ไม่ให้สูงขึ้นได้เลย และยิ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก นี่เป็นหลักสามัญสำนึกธรรมดา ๆ จึงเป็นมาตรการที่ไม่สัมฤทธิ์ผล โดยแท้จริงแล้วไม่ต้องการให้ราคาสุกรมีราคาต่ำ เพราะผู้ออกประกาศเป็นผู้ลี้ยงสุกรเสียเอง จึงเป็นหลักฐานที่บอกถึงการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝง มาตรการที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดนราธิวาสออกมาใช้บังคับฉบับนี้ จึงถูกศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยในคดีอาญานี้โดยการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง ฏีกานี้คือตัวอย่างของหลักความได้สัดส่วน หลักการย่อยข้อ 1. หลักความสัมฤทธิ์ผล
2) หลักความจำเป็น หลักนี้บอกว่าในบรรดามาตรการทั้งหลายซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการ ที่สัมฤทธิ์ผล คือ สามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะที่อยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมายปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้ในทางปฏิบัตินั้น ฝ่ายปกครองจะต้องเลือกมาตรการ ที่รุนแรงน้อยที่สุด นี่คือความหมายของหลักความจำเป็น คือ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมเกินจำเป็นมิได้ ส่วนที่เกินจำเป็นไม่ชอบธรรม จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักความจำเป็นนี้มีบัญญัติไว้ชัดแจ้ง ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นมาตรการที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะเป็นจริงขึ้นมาได้ในทางปฏิบัติสัมฤทธิ์ผล แต่ว่าจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเกินจำเป็น คือใช้มาตรการที่รุนแรงน้อยกว่าได้ แต่ไปเลือกใช้มาตรการที่รุนแรงกว่าก็ขัดรัฐธรรมนูญได้ เช่น ในการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบ ซึ่งการชุมนุมที่ไม่ชอบนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ โดยมาตรการที่ใช้ในการสลายการชุมนุมมี 3 มาตรการ สมมุติมาตรการแรกใช้ระเบิดขว้างเข้าไป 2 ลูก ตายทุกคน วิธีการนี้สัมฤทธิ์ผลแต่ทำลายชีวิตผู้ชุมนุม มาตรการที่สองรุนแรงน้อยกว่าใช้ปืน M 16 ยิงเข้าไป ซึ่งยังมี
บางคนอาจไม่โดนกระสุนปืน จึงรุนแรงน้อยกว่ามาตรการที่หนึ่งแต่ก็สัมฤทธิ์ผลเช่นกัน มาตรการที่สาม ใช้แก๊สน้ำตาและรถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าไปในฝูงชน ซึ่งก็เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้เขาได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งรัฐธรรมนูญประกาศรับรอง ทั้งสามมาตรการนี้สัมฤทธิ์ผลด้วยกันทั้งนั้น สามารถสลายการชุมนุม ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญได้เหมือนกันหมดทุกมาตรการ แต่ถ้าฝ่ายปกครองเลือกใช้มาตรการที่หนึ่งหรือมาตรการที่สองก็ขัดรัฐธรรมนูญทันที ต้องเลือกมาตรการที่สาม เพราะว่าสัมฤทธิ์ผลแต่รุนแรงน้อยที่สุดต่อสิทธิและเสรีภาพของราษฎรนี่คือหลักความจำเป็น ในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นั้น ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รัฐจึงสามารถสลายการชุมนุมได้ และได้วางหลักมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก คือ มีความรุนแรงน้อยที่สุด แต่ก็รักษาความสงบสุขของประชาชนได้ เป็นการกำหนดมาตรการสลายการชุมนุมโดยใช้หลักความได้สัดส่วน หลักความสัมฤทธิ์ผลและหลักความจำเป็นในการวินิจฉัยพิพากษาคดี
3)หลักความได้สัดส่วน หลักนี้บอกว่า ในบรรดามาตรการที่สัมฤทธิ์ผลและเป็นมาตรการ ที่จำเป็น คือ สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะได้และรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของราษฎร น้อยที่สุดแล้วก็ตาม แต่หากว่ามาตรการนั้นออกมาใช้แล้วมันยังก่อให้เกิดประโยชน์น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดแก่สิทธิและเสรีภาพของราษฎร ฝ่ายปกครองก็ไม่อาจใช้มาตรานั้นได้เลย และถ้าหากฝ่ายปกครองมีมาตรการก่อให้เกิดขึ้น ฝ่ายปกครองต้องอยู่เฉย ๆ ไม่ใช้มาตรการนั้นหรือไม่ใช้มาตรการอะไรเลย เช่น การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ถ้าเห็นได้ว่าประโยชน์มีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความเสียหาย เขื่อนนั้นก็สร้างไม่ได้ ขัดกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ หรือ เช่น การออก พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ท้องที่ถนนเยาวราช เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 การใช้ดุลยพินิจตรา พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายแม่บท จึงทำได้ไม่มีกฎหมายห้ามว่าท้องที่ใดบ้างห้ามนำมาดำเนินการปฎิรูปที่ดิน แต่ถนนเยาวราชเพาะปลูกไม่ได้ จึงไม่เกิดประโยชน์ ไม่สมตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมและความเสียหาย มีมากมาย ต้องเวนคืนที่ดินของเอกชนเป็นจำนวนมาก ต้นทุนในการเวนคืนหรือค่าทดแทนที่ดินเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเมื่อเอามาปฎิรูปที่ดินจัดสรรให้แก่เกษตรกรแล้ว เกษตรกรก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ท้ายที่สุดก็ขายทิ้ง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบ
ด้วยหลักความได้สัดส่วน หลักการย่อยที่หนึ่ง คือ ไม่สัมฤทธิ์ผลของการออกพระราชกฤษฎีกา หรือกรณีมาตรการบังคับรถแท็กซี่ทุกคันที่ขอจดทะเบียนใหม่ต้องใช้แก๊ส NGV เท่านั้น เป็นมาตรการที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ เมื่อออกกฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับก็มีคนไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองตัดสินว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ประหยัดพลังงาน แต่ว่าเป็นกฎที่สร้างภาระให้เกิดแก่ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่เกินสมควร เพราะเหตุว่าไม่มีสถานบริการเติมน้ำมันอย่างพอเพียง หลักความได้สัดส่วนอย่างแคบนี่เองที่นำมาใช้ในการวินิจฉัย เรื่องนี้ ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันที่บัญญัติว่า “เท่าที่จำเป็น” ถ้าไม่สัมฤทธิ์ผลก็ไม่จำเป็น จำกัดเสรีภาพเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นหลักกฎหมายลอย ๆ เพื่อให้เกิดความสวยหรู ศาลปกครองได้นำหลักความได้สัดส่วนมาใช้ในการตัดสินคดีหลายคดี เช่น คำพิพากษาศาลปกครองกลางหมายเลขคดีแดงที่ 2253/2545 เป็นกรณีฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ที่ห้ามชาวประมงใช้อุปกรณ์บางชนิดทำการประมงในฤดูวางไข่ คือ ยังจับสัตว์น้ำได้ แต่ห้ามใช้อุปกรณ์บางชนิด เช่น อวนรุน เพราะว่าจะมี ไข่ปลาติดมากับอวนรุนไปหมด ชาวประมงจึงฟ้องเพิกถอนประกาศดังกล่าว อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ จำกัด เสรีภาพของชาวประมงในการประกอบอาชีพประมงและละเมิดสิทธิชุมชน ศาลปกครองกลางพิพากษาว่าแม้ประกาศดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
แต่มาตรการที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่จำเป็นจะต้องเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญเสมอไป ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับนี้ไม่ขัดกับหลัก ความได้สัดส่วน โดยสามารถสัมฤทธิผลในการรักษาปลาไม่ให้สูญพันธุ์ปลาไว้ เป็นประโยชน์สาธารณะสืบไป รวมทั้งไม่มีมาตรการอื่นที่รุนแรงน้อยกว่านี้ เพราะชาวประมงยังสามารถจับปลา หรือสัตว์น้ำได้เพียงแต่ห้ามใช้อวนรุนเท่านั้นอันเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิของชุมชนแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง
หลักความเสมอภาค เป็นหลักที่ถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหลายมาตรา แต่มาตราที่สำคัญที่สุด คือ มาตรา 30 ซึ่งมี 3 วรรค วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพบุคคลย่อมเสมอกับกฎหมายเท่าเทียมกัน วรรคสอง ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และวรรคสาม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ฯลฯ กระทำมิได้ ซึ่งมาตรา 30 นี้หลักการที่สำคัญจริง ๆ คือความในวรรคสาม หลักความเสมอภาค หลักนี้มีความหมายว่ารัฐจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนกัน อย่างเดียวกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นปฏิบัติต่อคนที่เหมือนกันในสาระสำคัญที่แตกต่างกันย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกันก็ขัดกับหลักความเสมอภาคเช่นกัน อย่าบอกทุกคนว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันทุกกรณีเพราะเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติ และในชีวิตจริงเรามีการแบ่งคนออกเป็นประเภท เราปฏิบัติต่อคนแต่ละคนประเภทแตกต่างกันหลายกรณี เช่น เราแยกคนออกเป็น 2 ประเภท เช่น ผู้เยาว์กับผู้บรรลุนิติภาวะ แล้วเราก็ปฏิบัติต่อผู้เยาว์อย่างหนึ่ง ผู้บรรลุนิติภาวะแล้วอีกอย่างหนึ่ง หรือเราแบ่งคนเป็น 2 ประเภท โดยคำนึงถึงเพศของเขา คือ เพศชายกับเพศหญิง แล้วปฏิบัติต่อเพศชายอย่างหนึ่ง เพศหญิงอีกอย่างหนึ่ง เช่น สิทธิลาคลอดบุตรมีได้เฉพาะเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็น
ธรรมแต่อย่างใด เพราะเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันด้วยสาระสำคัญที่แตกต่างกัน แต่ถ้าให้เพศหญิงและเพศชายมีสิทธิลาคลอดได้เหมือนกันย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันด้วยสาระสำคัญอย่างเดียวกัน การแบ่งคนออกเป็นประเภทและปฏิบัติต่อคนแต่ละประเภทต่างกัน ทำได้และจำเป็นต้องทำ แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญห้าม คือ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม นั่นก็คือ การปฏิบัติโดยแบ่งคนออกเป็นประเภท โดยคำนึงถึงอายุ เพศ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น คนพุทธ คนอิสลาม ผู้เยาว์ ผู้บรรลุนิติภาวะ คนปักษ์ใต้ คนเหนือ ทนายความ ผู้พิพากษา และปฏิบัติต่อคนต่างประเภทกันแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญห้ามมิให้กระทำการปฏิบัติแบบนี้เรียกว่าการเลือกปฏิบัติ แบ่งคนออกเป็นประเภทและปฏิบัติต่อคนประเภทหนึ่งอย่างหนึ่ง และอีกประเภทหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม รัฐธรรมนูญห้ามเฉพาะการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเท่านั้น และเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น ดูว่ามีเหตุผลฟังได้หรือไม่ จะวินิจฉัยตามหลักความได้สัดส่วนอีกเหมือนกัน การเลือกปฏิบัตินั้น ในเบื้องต้นเลย 1) ต้องมีเจตนารมณ์หรือมีเหตุผลอันชอบธรรม คือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ 2) การเลือกปฏิบัตินั้น แบ่งคนออกเป็นหลายประเภท โดยคำนึงถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วจึงปฏิบัติต่อคนต่างประเภทกันแตกต่างกัน สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ที่ชอบธรรมได้ 3) คือจำเป็น ไม่มีวิธีการอื่นที่จะบรรลุเจตนารมณ์ในเวลานั้นได้นอกเหนือจากการเลือกปฏิบัติ
เช่น เจ้าพนักงานจราจรอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ออกประกาศกำหนดห้ามไม่ให้รถยนต์วิ่งบนถนนสายใดสายหนึ่งเกินอัตราที่กำหนดที่กฎหมายกำหนด บนทางด่วนห้ามเกิน 80 กม./ชม. ได้ แต่ถ้าออกประกาศห้ามมิให้รถยนต์สีแดงวิ่งบนทางด่วนเกิน 60 กม./ชม. นี่คือการเลือกปฏิบัติ คือ แบ่งคนออกเป็นประเภทโดยคำนึงถึงสีของรถยนต์ที่เขาขับและปฏิบัติต่อคนต่างประเภทกันแตกต่างกัน คือ คนขับรถสีแดงห้ามขับรถเกิน 60 กม./ชม. แต่คนขับรถสีอื่นขับรถยนต์ได้เร็วตามใจชอบ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ และเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ คือ การรักษาสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่รถยนต์และประชาชนผู้ใช้ทางจราจร จะเห็นได้ว่าประกาศห้ามดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผลในการรักษาสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ เป็นการกระทำโดยอำเภอใจ ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเพราะไม่เกิดประโยชน์โดยใช้หลักความได้สัดส่วน นี่คือหลักความเสมอภาค
10. จากหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ทำให้เกิดผลผลิต ทางกฎหมายอย่างไร การใช้อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ แนวทางปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและการรายงานการใช้อำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ พ.ศ.2556 การตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ของผู้สอบบัญชี ซึ่งจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ทำให้เกิดผลผลิตทางกฎหมายปกครอง 2 ประการคือ (1) คำสั่งทางปกครองตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (2) การพิจารณาทางปกครอง เกี่ยวกับการรายงานและเสนอให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินการบัญชี เพื่อให้นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 22 (1)-(4)
จากการการทำทางปกครองทั้ง 2 ประการดังกล่าว ผู้สอบบัญชีจึงอาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองได้โดยศาลหรือหน่วยตรวจสอบ ซึ่งก็จะนำหลักการในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักความได้สัดส่วนมาใช้ในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของท่านว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพบว่า การกระทำทางปกครองของท่านไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนดังกล่าว การกระทำของท่าน ก็จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรค ๑ (๑) ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ